จั่วหัวแบบนี้ไม่ได้มาแฉเหล่าไฮโซ ไฮซ้อ หรือคนชั้นสูงที่ไหนนะคะ แต่วันนี้หนึ่งแบบซีเรี้ยสซีเรียส เป็นทางการ วิชาการสุดๆบล็อกแรกเพราะ จะพูดถึงสิ่งที่เข้าใกล้วิชาชีพตัวเองนิดนึง ว่าด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ก่อนอ่านตั้งสตินิดนึงนะคะ ไม่เช่นนั้นอาจเผลอไปหลับเข้าเฝ้าพระอินทร์ได้ แต่หนึ่งคิดว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะเดินทางไปเที่ยวในที่สูงๆเช่น เนปาล เลห์ ลาดัก หรือเปรู
เคยทราบไหมคะว่า การขึ้นไปอยู่ชั้นสูงทำให้เกิดโรคได้?
ชั้นสูงที่หนึ่งกล่าวถึง คือที่สูงจริงๆนะ สูงจากระดับน้ำทะเล ยิ่งสูงยิ่งหนาวไม่พอยังทำให้ป่วยด้วยเออ
โรคที่ว่านี้คือ "Altitude sickness" นั่นเอง
??????
โรคอะไร ไม่เคยได้ยินเนอะ ไม่ต้องตกใจค่ะเพราะหนึ่งก็เพิ่งรู้จักโรคนี้มาไม่นานมานี้เอง...เย้ย....
แหมๆๆ เป็นมดเป็นหมอก็ใช่จะรู้ทุกอย่างในโรคหล้านะคะ บางอย่างเราก็รู้น้อยถึงไม่รู้ก็มี เหตุผลคือ บางโรคเกิดในพื้นที่เฉพาะ ดังนั้นในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศจะมีโรคที่เฉพาะของเค้สหมอๆแถวนั้นรับ มือได้ดีเพราะเจอกันบ่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น วัณโรคปอด เป็นกันเยอะมากที่บ้านเรา หมอบ้านเรารักษาโรคนี้เก่งมาก แต่ถ้าเป็นวัณโรคที่อเมริกาหมอๆแถวนั้นเค้าจะแตกตื่น ตื่นเต้นกันมาก...แก้ตัวด้วยเหตุผลที่ฟังดูเข้าท่าใช่ไหมคะ
ว่า แต่หนึ่งจะมาพูดถึงโรคนี้ทำไมนะ โนๆๆๆ ไม่ใช่เพราะโรคนี้กำลังจะระบาด คร่าชีวิตคนทั้งทวีปหรือทำลายล้างโลกอยู่ (ดูหนังฮอลลิวูดเยอะไปปะเนี่ย) เพราะความจริงเจ้าโรค altitude sickness เกิดในกลุ่มคนที่เฉพาะมาก มีความแตกต่าง แบบว่าอยู่สวยๆไม่ท้าทายขอไปสูดอากาศในที่สูง ซึ่งก็คงไม่พ้นนักสำรวจ นักเดินทาง นักท่องเที่ยวทั้งหลายที่รักและชอบสถานที่สูงๆ(จากระดับน้ำทะเล)หรือนักปีน เขานั่นเอง
หนึ่งเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพราะวันก่อนอ่านบล็อกของคุณฟ้า กาบริเอล เห็น เธอบันทึกระดับความสูงของสถานที่ที่เธอไปแล้วหนึ่งแอบต๊กกะใจ ป้าดดด 4,xxx เมตรเหนือระดับทะเล แม่เจ้า สูงขนาดนี้ไม่เห็นเธอบ่นว่าอะไรนอกจากเรื่องเข้าห้องน้ำกลางแจ้งตอนอากาศติด ลบ ฮา....
หนึ่งเคยไปเที่ยวสถานที่ที่สูง กว่าระดับน้ำทะเลแล้วมีอาการของโรคนี้เลยเอามาแชร์เป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อย เพื่อสร้างภาพให้บล็อกนี้ดูมีสาระและดูมีคุณค่ามากขึ้น เผื่อใครเตรียมตัวจะไปเที่ยวหรือกำลังเดินทางไปสถานที่สูงๆจะได้มีไอเดียและ เผื่อผลบุญครั้งนี้จะทำให้หนึ่งได้เปลี่ยนสโลแกนจาก "สวยและรวยมาก" เป็น "สวยอย่างมีคุณค่า" เพราะพยายามรวยแล้ววันไม่เวิร์ค กร้ากกกก
เธอเห็นภูเขานั่นไหม.....Sacred Valley , Peru
กลับมาที่ "altitude sickness" ชื่อเป็นภาษาไทยก็มีนะ แต่ฟังแล้วอาจจะเมากว่าภาษาอังกฤษ ถ้าไปเสิร์ชหาโรคนี้ภาษาไทยจะเจอ
"โรคแพ้ความสูง" หนึ่งว่าฟังดูแปลกๆนา แม้จะเรียกง่ายก็เถอะ เพราะพาลทำให้คิดว่าเราจะมีอาการเหมือนภูมิแพ้เมื่อไปอยู่ที่สูงอยู่ร่ำไป
"โรคจากขึ้นที่สูง" อันนี้แปลตรงตัวเลยค่ะ แต่ตอนเรียกชื่ออาจจะรู้สึกขัดๆลิ้นขัดปากนิดหน่อยเรียกไม่คล่องนัก ทว่าหนึ่งชอบ เพราะหนึ่งชอบอะไรยากๆ มะช่ายยย เพราะมันดูสื่อและตรงกว่าอันแรกต่างหาก
หนึ่ง รู้จักโรคนี้ตอนไปเที่ยวเปรู เพราะมีคำเตือนจากหัวหน้ากรุ้ปก่อนออกเดินทาง และตอนที่อยู่ที่เปรูมีเพื่อนในทริปมีอาการของ altitude sickness ถึง 2 คน และเจออีกครั้งตอนไปเที่ยวเลห์ลาดัก ได้เซย์ฮัลโหลทักทายกันเบาๆ เลยเอาเกร็ดความรู้มาฝากกัน
Altitude sickness เป็นโรคที่เกิดจากการขึ้นที่สูง คำถามคือ แล้วสูงแค่ไหนถึงจะมีอาการ ???
คำตอบ : ตัวเลขความสูงที่ทำให้เกิดโรคนี้ไม่ใช่เลขกลมๆเป๊ะๆเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมทั้งปัจจัยส่วนบุคคลด้วย แต่สามารถพบอาการนี้ได้ที่ระดับความสูงมากกว่า 2100 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป และยิ่งสูงก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นด้วย
อุต๊ะ แล้วอย่างนี้เราต้องกังวลแค่ไหน.... เราควรรู้ไว้ค่ะแต่ไม่ต้องกังวลมากจนทำให้การท่องเที่ยวหรือการเดินทางไม่สนุก
ปกติ สถานที่ที่เราเดินทางไปท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมักอยู่สูงไม่เกิน 5,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล สูงกว่านี้ไม่น่ามีคนอยู่อาศัยกันแล้วคนที่จะขึ้นไปมักจะเป็นนักปีนเขาหรือ นักสำรวจซึ่งต้องมีการเตรียมตัวและการปฏิบัติตัวที่เฉพาะ เพราะอากาศเบาบางมากๆ
มาชู ปิชู เปรู 2,430 เมตร
ดอยอินทนนท์ 2,565 เมตร
Cuzco, Peru 3,400 เมตร
เลห์ 3,6xx เมตร
Uros Islandม Peru; Lake Titicaca 3,812 เมตร
Everest Base Camp 5,364 อันนี้เคยอยากไป แต่ยังไม่ได้ไปแต่เห็นตัวเลขแล้วถ้าไปคงมึนแน่ๆ
ความสูงทำให้เกิดโรคได้ยังไงนะ
พอขึ้นที่สูงไปเรื่อยๆ มันก่อปัญหาให้เราได้นะคะ เคยสังเกตไหมว่า
* อากาศเย็นขึ้นเรื่อยๆ คำกล่าวที่ว่า "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" ไม่ได้กล่าวเกินจริงเลย
* อากาศจะแห้งมากกกก สังเกตได้จากผิวหน้าผิวตัวแห้งผาก ยิ้มทีทั้งตีนกา ตีนกรูแปะอยูาหน้าเต็มเลย อิอิ ดังนั้นมีโอกาสที่ร่างกายขาดน้ำสูง ยิ่งคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำ(เหมือนหนึ่ง) หรือเที่ยวเพลินๆลืมดื่มน้ำ มีโอกาสแห้งแหงแก๋เป็นกล้วยตาก * ได้อาบ UV มากกว่าที่ระดับน้ำทะเลอย่างมาก เน้นเลยว่าอย่างมาก เพราะมันรู้สึกเลยว่าแดดทะลุผิวเราวิ่งไปถึงตับไตไส้พุงเลยค่ะ คือเป็นการเปรียบเทียบอำนาจทะลุทะลวงของ UV บนผิวเรา ยิ่งอากาศแห้งๆฟ้าจะใสกริ้ก ไม่มีเมฆมาช่วยกรองUV เลย งานนี้รับไปเต็มๆ จะได้เข้าใจว่าอากาศเย็นแต่ไหม้มันเป็นยังไงก็คราวนี้ ดังนั้นครีมกันแดดมีก็โบกไปเลยค่ะ เพราะน้องฝ้าอาจจะมาขออาศัยอยู่บนหน้าเราได้และอาจจะเผลออยู่ยาววว * ยิ่งสูง ความดันอากาศต่ำลง*** อากาศจะยิ่งเบาบางลงเรื่อยๆ นั่นหมายถึงถ้าเราหายใจเข้า 1 เฮือก ร่างกายจะได้รับออกซิเจนในอากาศน้อยลงไปด้วยนั่นเอง...ใช่แล้วค่ะ นี่คือปัญหาใหญ่ ถ้าออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่งจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปด้วยแต่อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ เพราะการเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศจะเกิดที่ระดับความสูงมากกว่า 2100 เมตรขึ้นไป |
แล้วอาการเป็นยังไง เราจะรู้ตัวไหมถ้าเป็น
จริงๆ อาการของ altitude sickness แบ่งตามความรุนแรงเป็น 3 กลุ่ม ตั้งแต่แบบเบาๆไปจนถึงน้ำท่วมปอด สมองบวมและเสียชีวิตได้...อย่างหลังฟังกลัวอยู่นะ แต่โชคดีว่าอาการหนักๆเกิดไม่บ่อยนัก ที่เป็นบ่อยๆคือแบบเบาๆ ซึ่งเค้ามีชื่อเรียกด้วยนะคะว่า "acute mountain sickness (AMS)"
เห็นภูเขาจนเมากันไปข้างนึง
อาการของ AMS เกิดจากการที่ร่างกายพยายามปรับตัวต่อภาวะที่มีออกซิเจนในเลือดต่ำนั่นเองและมักจะเกิดในช่วง 6-10 ชม หลังจากขึ้นที่สูง ถ้ามีอาการแล้วเรารู้ตัวแน่นอนค่ะ เพราะมันจะรู้สึกไม่ปกติ อาการสำคัญคือ "ปวดหัว" ใจเต้นเร็วหรือใจสั่น เบื่ออาหาร รู้สึกอ่อนแรงอ่อนล้าบางคนง่วงเหงาอยากนอนอย่างเดียว หายใจไม่ออก ออกแรงแล้วเหนื่อย บวมที่หน้า มือ หรือเท้า พอจะหลับบางคนนอนไม่หลับอีก
แต่ ร่างกายเรามีความมหัศจจรย์เพราะสามารถปรับตัวได้แต่อาจจะใช้เวลานิดหน่อยคือ ประมาณ 1-2 วัน อาการเหล่านี้จะหายไปเอง แต่ถ้าไม่หายและยังมีภาวะขาดออกซิเจนสะสมหรือขึ้นไปที่สูงขึ้นกว่าก็มีโอกาส เป็นรุนแรงมากขึ้นจนน้ำท่วมปอด สมองบวม ซึ่งสองอาการนี้เป็นแล้วโอกาสเสียชีวิตสูง
อะไรคือความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
คำ ตอบคือทุกคนที่ขึ้นไปที่สูงมีโอกาสเป็น ไม่เลือกเพศหรือวัย ไม่ว่าร่างกายจะฟิตปั๋งแค่ไหนก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้และความสวยไม่ช่วยอะไร เลย ณ จุดนี้ แต่...ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเป็นโรคนี้คือ
1. ระดับความสูง ยิ่งสูงมาก โอกาสก็มากตามไปด้วย
2. ความเร็วในการขึ้นที่สูง ถ้าเร็วไปโอกาสเกิดโรคสูง เช่นการบินจากระดับน้ำทะเลไปที่ระดับ 2,800 เมตรเลย 1 ในวัน โอกาสเกิดเป็นสูงกว่าการนั่งรถไปเรื่อยๆหลายๆชั่วโมงหรือเป็นวันก่อนไปถึง เพราะอย่างหลังร่างกายมีเวลาปรับตัว
หนึ่งเจอกับตัวเองทริปเลห์ ดาลัก บินจากนิวเดลีไปลงสนามบินเลห์ที่สูง 3,524 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลงจากเครื่องยังยิ้มได้สวยๆ
นั่ง รถจากสนามบินไปที่พักไม่นานมาก พอลงจากรถเข็นกระเป๋าไปที่พักซึ่งมันต้องเดินขึ้นเนินเตี้ยๆ เอ๊ะ ทำไมมันเหนื่อยง่ายจัง เดิน 3 ก้าวเหนื่อยแล้ว ปวด หัวตามมาเลย เป็นการปวดแบบหัวเบาๆ...มันมาแล้ว พอเช็คอินเสร็จ ง่วงค้า กลางวันแสกๆเลยโชคดีที่ยังไม่มีแผนเที่ยววันแรก แยกย้ายกันไปนอน 1 ชม ตื่นขึ้นมา
กรี้ดดดดด บวมค่าา หน้าบวม มือบวม ตามรูปเลย พอดูออกไหมคะว่าบวม 5555
โชค ดีหนึ่งเป็นแค่วันแรก วันต่อมาอาการหายไปเองเพราะเราเที่ยวๆแถวนั้นไม่ได้ขึ้นไปสูงกว่าเดิมช่วง วันแรกๆ และกิจกรรมที่ทำก็ไม่ได้หนักหน่วงอะไร
3. กิจกรรมที่ทำขณะอยู่บนที่สูง และ การออกแรงหรือมีกิจกรรมหนักระหว่างที่อยู่ที่สูงมันสำคัญนะคะ การวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้นหรือทำกิจกรรมหนักๆทำให้ร่างการต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิด AMS ได้มากขึ้นด้วย อันนี้หนึ่งก็เคยเจอกับตัวอีกแล้ว เป็นวันที่ 2 ในเปรูหลังจากวันแรกทุกคนไม่มีอาการอะไร แต่วันที่สองนั่งรถไปเที่ยวที่ระดับความสูง 4600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ผ่านทะเลสาปที่มีนกฟลามิงโก ด้วยความที่ชอบถ่ายรูปกันทุกคนเลยขอจอดถ่ายรูป พอรถจอดก็วิ่งเริงร่าไปที่ทะเลสาป
ผลคือ....หนึ่งหัวเบา ดูโหวงๆและเหนื่อยคล้ายจะเป็นลม แต่หยุดพักแป้บ เดินช้าๆ อาการก็หายไปเอง
ฟูฟี กลับมาที่รถ นั่งไปซักพัก หายใจไม่ออก จนต้องเดินบอกไกด์ที่มาด้วย
เพื่อนอีกคนปวดหัว เวียนหัว ต้องล้มตัวนอนอย่างเดียว
ไกด์ เราแก้ปัญหาด้วยการแวะจอดรถที่เมืองเล็กๆระหว่างทาง และดื่ม coca tea พักจนอาการของฟูฟีดีขึ้นแล้วค่อยเดินทางต่อซึ่งก็เกือบชั่วโมงเหมือนกัน
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อยู่ที่สูงให้สำรวมไว้เถิด
4. ระยะเวลาที่อยู่ในที่สูง ถ้าอยู่ไม่นาน เช่น ขับรถขึ้นยอดดอยสูง 3000 เมตร แต่อยู่ไม่นานก็ลงมา โอกาสเกิด AMS ก็น้อยกว่า ประมาณว่าอยู่เดี๋ยวเดียว แต่ถ้าอยู่เป็นวันหรือสองวันในระดับความสูงเดิม ร่างกายสามารถปรับตัวได้ค่ะ
5. ภาวะขาดน้ำ เป็นตัวร่วมด้วยช่วยทำให้แย่เมื่อไปบวกกับปัจจัยอื่น ดังนั้นพกกระปุกน้ำไว้แล้วจิบบ่อยๆนะคะ ช่วยได้มากจริงๆ
6. คนที่มีรถประจำตัวได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด และ โรคโลหิตจาง ถือเป็นโรคมีต้องระวังและอาจเป็นข้อห้ามในการขึ้นที่สูงเลย ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนหากจำเป็นต้องเดินทางไปที่สูงมากๆ
7. คนที่เคยมีอาการของ AMS ในทริปก่อน ทริปต่อไปก็ทำใจว่ามีโอกาสเกิดอีกได้
เมื่อเกิดอาการแล้ว (ต้อง) ทำยังไงดี
ส่วนใหญ่สถานที่สูงๆมักจะธุรกันดารและอยู่ไกลมากกกกกก อยู่ที่ไหนซักที่บนโลก สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องรู้ตัวเองและรู้การปฏิบัติเบื้องต้น
1. ตั้งสติ ไม่ต้องตกใจมาก AMS เป็นอาการแบบเบาๆของ altitude sickness และมันต้องใช้เวลานานพอควรก่อนที่อาการจะแย่ลงมากๆ จนถึงขั้นรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้
2. บอกเพื่อนร่วมทริปหรือไกด์ว่าเรามีอาการ หากกำลังอยู่ระหว่างเดินทางขึ้นที่สูงกว่าต้องหยุดพักก่อน เคลื่อนไหวช้าๆ หายใจลึกๆ รอจนกว่าอาการจะหายไปเพื่อให้ร่างกายปรับตัวก่อนที่จะขึ้นที่สูงต่อ
3. ดื่มน้ำสะอาดอยู่เรื่อย เพื่อลดภาวะขาดน้ำ
4. ถ้าทำทั้งสามข้อแล้ว อาการไม่ดีขึ้น แถมรู้สึกว่าแย่ลงกว่าเดิมต้องลงมาจากระดับที่สูงนั้นทันที ห้ามดื้อดึงขึ้นไปที่สูงต่อ***
* ออกซิเจน-
การดมออกซิเจนช่วยได้ แต่ปัญหาคือมันไม่ได้มีในจุดที่เราต้องการ
แต่เคยมีเพื่อนไปเที่ยวแชงกลีร่า
มีออกซิเจนเตรียมไว้ให้สำหรับนักเดินทางที่เป็น AMS ด้วย เก๋มากๆ
แต่หลายๆสถานที่ไม่ได้มีแบบนี้ *Diamox หรือ Azetazolamide เป็นยาที่ใช้ทั้งในการป้องกันและรักษา AMS แต่บางคนอาจจะไม่ได้ผล ยามีผลข้างเคียงคือปลายมือปลายเท้าชา และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ คนที่แพ้เพนนิซิลินอาจจะแพ้ยาตัวนี้ได้ และพึงระวังว่าการกินยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์นะคะ เพราะยามีผลข้างเคียงที่เราอาจจะคิดไม่ถึง * ถ้าไปแถบแอนดีส เช่นเปรู โบลิเวีย อาร์เจนตินา ตามที่พักหรือร้านค้าอาจจะมี coca tea ให้จิบเพื่อป้องกันการเกิด Altitude sickness ฟูฟี่ผู้ที่ได้ลองดื่มชานี้ตอนมีอาการบอกว่า ก็ดีนะ ดูไม่ค่อยช่วยอะไร แต่คนในท้องที่เค้าว่าช่วยแม้ทางวิชาการไม่รู้กลไก หนึ่งเห็นแหล่งท่องเที่ยวบางที่แถวนั้นมีลูกอมโคคาขายด้วยซ้ำ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่นเค้านะคะ *นักปีนเขา ที่ขึ้นไปภูเขาสูงๆจะมีวิธีการปฏิบิติตัวเพื่อลดการเกิดโรคนี้้ ถ้าเป็นฝรั่งเค้าจะมีไกด์ไลน์การปฏิบัติตัวก่อนเดินทาง แผนการเดินเขาเลยชัดเจน แต่ถ้าไปเที่ยวขำๆ ก็ให้รู้จักว่าโรคนี้ไว้เมื่อมีอาการจะได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง มือใหม่หัดปีนเขาควรศึข้อมูลก่อนเดินทางนะคะ * สำหรับคนที่เคยไปที่สูงแล้วมีอาการของ AMS หากทริปต่อไปต้องเดินทางไปที่สูงอีกอาจต้องกินยาป้องกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง |
เมื่อรู้ทันโรคเราก็เที่ยวได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย
จบ lecture สำหรับวันนี้ ใครแอบหลับบ้างยกมือขึ้น
ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันค่า
references:
1. http://haamor.com/th
2.http://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2014/chapter-2-the-pre-travel-consultation/altitude-illness
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Altitude_sickness
No comments:
Post a Comment